การใช้สารเคมีจำนวนมากทั้งในแง่ของปริมาณและความเข้มข้น
เพื่อปกปักรักษาดอกมะลิให้รอดพ้นจากการรุกรานของหนอนเจาะดอก
ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนมากอย่างไม่น่าเชื่อ
แต่นอกจากต้นทุนที่เป็นตัวเงินแล้ว
ต้นทุนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก็นับเป็นต้นทุนอีกชนิดหนึ่งที่ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจัง
เมื่อเอ่ยถาม นายวิรัตน์
ปักษาสุขเกษตรกรชาวนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ผู้ปลูกมะลิขายกว่า 20 ปี ถึงเรื่องสุขภาพว่า
กริ่งเกรงบ้างหรือไม่กับการคลุกคลีกับสารเคมี เขาบอกว่า
“ไม่ค่อยกลัวเรื่องสุขภาพ ฉีดยาเดี๋ยวนี้ไม่อันตราย ดีกว่าเก่าหรอก ฉีดไปไม่ค่อยโดนตัวคนหรอก
เมื่อก่อนผมใช้ยาแรงกว่านี้อีก บางทีฉีดจนตัวเราน็อกเลย ต้องไปหาหมอ ให้น้ำเกลือ
แต่ยาเดี๋ยวนี้ไม่แรงเหมือนเมื่อก่อน ตอนทำใหม่ๆ
เว้นยาสี่ห้าวันฉีดทีเพราะยามันแรง เดี๋ยวนี้ยาไม่แรง ตัวแรงๆ เขาสั่งห้ามเข้าหมด”
อีกทั้งปัจจุบันนี้ วิรัตน์จ้างคนงานฉีดยากำจัดศัตรูพืช
ไม่ได้ทำเองอย่างแต่ก่อน ถึงกระนั้นเขาก็ยังยืนยันเช่นเดิมว่า
ไม่อันตรายเท่าเมื่อก่อนเพราะความรุนแรงของสารเคมีลดถอยลงไปมาก
“ก่อนนี้เวลาจะฉีดก็มีที่อุดจมูก ใส่เสื้อแขนยาว
เดี๋ยวนี้ก็ทำกันแบบนี้แหละ แต่เดี๋ยวนี้ไม่อันตรายอย่างแต่ก่อน ฉีดง่าย
มีเครื่องห่างตัวเรา เมื่อก่อนก้านฉีดมันสั้น เดี๋ยวใช้เรือ สะพายไม่ทันใจ
นี่ฉีดประมาณชั่วโมงก็เสร็จแล้ว”
สถาพร โพธิ์อำพรเกษตรกรชาวสวนมะลิอีกคนหนึ่ง
บอกกับเราว่า เขาไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ
เพราะไปหาหมอเพื่อตรวจเลือดบ่อยพบว่าสุขภาพร่างกายปกติ และการฉีดยาแต่ละครั้งเขาก็มีการป้องกันตัวเองค่อนข้างดี
“ถ้าฉีดเองก็จะใส่หน้ากาก ไม่ฉีดใต้ลม เพราะยาโดนตัว โดนหน้า ไม่ไหว
มันกัดเนื้อยุบยิบๆ รู้สึกเลย คือใส่เสื้อแขนยาวมันไม่ถูกหรอก
แต่บางทียาหยดลงกับพื้นหญ้าแล้วเดินไป มันโดนเท้า มันกัด เพราะบางครั้งก็ใส่
บางครั้งก็ไม่ได้ใส่รองเท้าบู๊ต แต่กลัว มันก็กลัวนะ แต่ก็ต้องฉีด
กะว่าลูกเรียนจบก็จะเลิก”
หากไม่นับ ‘หัวยา’ที่ชาวสวนมะลิ ตำบลบางพระ นิยมใช้
ซึ่งไม่มีฉลากที่ถูกต้องตามกฎหมายทำให้ไม่รู้ว่า
ยาดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มสารเคมีประเภทใดแล้ว
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ชาวสวนมะลิใช้ในการกำจัดหนอนเจาะดอก
ซึ่งได้ข้อมูลจากการตรวจสอบฉลากข้างขวดบรรจุสารเคมี พบว่า จัดอยู่ในกลุ่ม Pyrethroid และ Organophosphorusซึ่งถือเป็น 2
ใน 6 กลุ่มใหญ่ๆ
ที่แบ่งตามผลที่มีต่อร่างกายมนุษย์ โดย Pyrethroidจะสร้างความระคายเคืองต่อร่างกายภายนอก ขณะที่ Organophosphorus จะส่งผลต่อระบบประสาท
และเมื่อดูผลการตรวจหาสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดใน
โครงการเฝ้าระวังเพื่อลดการใช้สารเคมีในเกษตรกร ปี 2553 ตำบลบางพระ จากการสุ่มตัวอย่างเกษตรกรหรือลูกจ้างการเกษตร 100 คน โดยใช้ชุดทดสอบสารพิษตกค้างในเลือด (Cholinesterase Test)ขององค์การเภสัชกรรม
ซึ่งมีการแบ่งระดับการตกค้างเป็น 4 ระดับ
ได้แก่ ปกติ ปลอดภัย มีความเสี่ยง และไม่ปลอดภัย พบว่า เกษตรกรที่ ‘มีความเสี่ยง’จำนวน
6 คน, ‘ปลอดภัย’จำนวน 43 คน
และ ‘ปกติ’จำนวน
51 คน
คำว่า ‘ปกติ’ในที่นี้หมายถึงไม่มีสารเคมีตกค้างในกระแสเลือด
ส่วน ‘ปลอดภัย’หมายความว่ามีสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดเพียงเล็กน้อย
แต่ไม่ถึงกับเป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งหากดูตามเกณฑ์นี้ ย่อมแสดงว่า
เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบางพระ 50 เปอร์เซ็นต์
มีสารเคมีตกค้างอยู่ในกระแสเลือดผลดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับบทความ ‘สถานการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย’ของ นพ.พิบูลย์ อิสระพันธ์ รองผู้อำนวยการ
สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่า เกษตรกร 53.76 เปอร์เซ็นต์ มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม
ผลการตรวจนี้ไม่ได้เจาะจงเฉพาะผู้ปลูกดอกมะลิ แต่เป็นการสำรวจจากเกษตรกรทั่วไปในตำบลบางพระ
ผลที่ออกมาจึงไม่อาจสรุปแบบไร้ข้อสงสัยได้ว่า
ผู้ปลูกดอกมะลิมีสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า
ข้อมูลดังกล่าวไม่มีนัยใดๆ อยู่เลย
จิระวัฒน์
กรรัตนวิเชียรนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอนครชัยศรี
เปิดเผยกับเราว่า
ทางกรมส่งเสริมการเกษตรตระหนักถึงผลเสียของการใช้สารเคมีปริมาณมากในการปลูกมะลิดี
จึงทำการพัฒนาวิธีการอื่นเพื่อลดการใช้สารเคมี
“ตอนนี้เราจะลองเชื้อไวรัสเอ็นพีวี เป็นเชื้อที่จะฆ่าหนอน
ใช้ฉีดพ่นตอนเย็น มันเป็นผลึกเล็กๆ ที่จะไปเกาะตามใบ ตามดอก เมื่อหนอนไปเจาะ ไปกิน
ไวรัสนี้จะเข้าไปทำลายระบบลำไส้ของหนอน ทำให้หนอนตาย
ลักษณะการตายมันจะขึ้นไปตายบนยอด
เกษตรกรจะสามารถเอาหนอนที่ตายไปโขกตำและนำไปฉีดพ่นได้อีก ไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม
ต่อคนแต่เชื้อยังไม่ลงมาให้เรา”
เขายังบอกอีกว่า จริงๆ แล้วเชื้อไวรัสตัวนี้มีขายอยู่แล้วตามท้องตลาด
เพียงแต่ยังไม่มีการทดลองใช้จนเห็นผลที่ชัดเจน เกษตรกรจึงยังไม่เกิดความมั่นใจ
“ถ้าเราทำให้เขาเห็นว่าใช้ได้
มันก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรได้ ลดการใช้สารเคมีลงไปได้เยอะ
มันเหมือนเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่”
ถึงกระนั้นจิระวัฒน์ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า
เชื้อไวรัสดังกล่าวจะมาแทนที่สารเคมีได้
เนื่องจากเกษตรกรมีพฤติกรรมติดการใช้สารเคมี เพราะให้ผลที่รวดเร็วกว่า
ฉีดแล้วหนอนตายทันที ขณะที่การใช้เชื้อไวรัสต้องใช้เวลา 3-7 วัน จึงจะเห็นผล
ไม่ใช่แค่เกษตรกรผู้ปลูกดอกมะลิเท่านั้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการมีสารเคมีตกค้างภายในร่างกาย
ผู้นำดอกมะลิมาร้อยเป็นพวงมาลัยก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องสัมผัสกับดอกมะลิโดยตรง
ซึ่งอาจทำให้สารเคมีดูดซึมเข้าร่างกาย
“ดอกมะลิมียาฆ่าแมลงใช่ แต่พี่ไม่แพ้ คนอื่นเขาเป็นนะ มือเน่าเลย
เราก็ต้องล้างมือ บางทีร้อยๆ อยู่ หยิบขนมกินประจำเหมือนกันนะ
พูดขึ้นมาแล้วก็กลัวเหมือนกันนะ” นฤมล ชูวงษ์
แม่ค้าพวงมาลัย ปากคลองตลาด เธอยึดอาชีพนี้มาเกือบ 20 ปี
เธอรู้ดีว่าดอกมะลิที่เธอร้อยอยู่ทุกวันถูกเคลือบด้วยยาฆ่าแมลงจำนวนมาก
ตัวอย่างคนที่แพ้ก็มีให้เห็น แม้ว่าจะไม่เกิดขึ้นกับเธอ แต่เธอก็มีวิธีป้องกันในแบบที่เธอคิดว่าน่าจะได้ผล
“ถ้าเราเป็นแผลนิดหนึ่งก็ต้องทายาเลย แก้คัน แก้เชื้อรา รีบรักษา
กลัวยาจะเข้าไปในแผล”
ถามว่าทำไมไม่ใส่ถุงมือ
“ใส่ถุงมือมันไม่ถนัด บางร้านเขาแพ้ ร้อยไม่ได้ คนไม่เคย
แป๊บเดียวรู้สึกเลย ต้องพันพลาสเตอร์ยาไว้ตลอดทุกครั้งที่ร้อย”
แต่ สมนึก กุ้งทอง วัย 54 ปี ชาวตำบลบางพระ
ผู้มีอาชีพร้อยพวงมาลัยขายเช่นกัน ไม่โชคดีเหมือนนฤมล สมนึกมีอาการแพ้ คัน
กระทั่งเป็นรอยจ้ำๆ ตามมือ แขน และขา
“เราก็แพ้ แต่หยุดไม่ได้ ถ้าหยุดก็ไม่มีกิน
ทุกวันนี้ก็ยังแพ้อยู่ ที่ขานี่จะเยอะหน่อย เพราะเวลาผูกจะต้องเอาวางกับตัก
แต่แพ้ไม่มาก เป็นไม่หนักเท่าไหร่หรอก พอคัน เราเกาเป็นแผลก็เอายาจากอนามัยมาทา
แต่จะว่ามะลิอย่างเดียวไม่ได้ ดาวเรืองมันมีหนอน เมื่อก่อนนั่งพื้น
เวลารูดเข็มก็ต้องมากองไว้ที่ขา พวกขี้หนอนก็โดน”
ผลกระทบจากสารเคมีไม่ได้หยุดเพียงแค่ผู้สัมผัสโดยตรงเท่านั้น
แต่สิ่งแวดล้อมรอบข้างยังต้องแบกรับต้นทุนสารเคมีด้วยเช่นกัน
จากงานศึกษาเบื้องต้นเรื่อง
‘ผลของสาร Carbofuran, Dicrotophos, EPNและMethomyl ที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ’ของกลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ซึ่งทำการทดลองในแปลงปลูกผักคะน้า พบว่า สารเคมีทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวมีพิษต่อแมลงศัตรูพืช
ขณะเดียวกันก็เป็นพิษต่อแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อผักคะน้าด้วยซึ่งผลดังกล่าวเผยให้เห็นผลกระทบของสารเคมีต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระดับหนึ่ง
แน่นอนว่า
ในกรณีของดอกมะลิยังไม่มีการศึกษาชนิดจำเพาะเจาะจง
แต่จากการสังเกตของตัวเกษตรกรอย่างน้อยสองคนคือวิรัตน์และสถาพร
พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ฉีดยาและใส่ปุ๋ยเคมีมากทำให้ดินเสีย
“เวลาเราฉีดยามากๆ ดินมันจะเสีย
ถ้าเราเห็นท่าต้นมันไม่ดี เริ่มเหลือง ไม่งาม ก็แปลว่าดินไม่ดีแล้วเราก็กลบทำนาสี่ห้าปี
ให้ดินมันคืน ย้ายมะลิไปลงแปลงอื่น” วิรัตน์
กล่าว
ส่วนสถาพร
บอกว่า
“ดินมีปัญหา เคยเอาดินไปให้เกษตรอำเภอตรวจ
เขาว่ามันเป็นดินดาน เป็นกรด เขาว่าใส่ปุ๋ยมาก เขาแนะนำให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพ
แต่มันช้าน่ะ กว่าดินจะกลับสภาพ ดอกก็ไม่ค่อยดก
“ส่วนยา ตอนนี้ยาที่ทำมาฉีดแล้วปลาไม่ตาย
แต่ถ้าฉีดลงไปในน้ำแล้วมีผลนะ ทำให้ปลาไม่โต ปลานิลนี่มาอยู่เอง แต่บ้านผมไม่กิน
ปลามันผอม ผมว่ามันก็ต้องมีเกี่ยวกับยาบ้างแหละ”
ข้อมูลเหล่านี้คงทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งรู้สึกกังวลแต่
นพ.พิบูลย์ บอกว่า จากงานที่เคยศึกษา คนทั่วไปก็มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว
ซึ่งอาจจะได้รับผ่านการรับประทานผักผลไม้
การสัมผัสกับดอกมะลิไม่น่าจะมีผลอะไรต่อร่างกาย
“ทีนี้ถ้ามาได้รับเพิ่มเติมเข้าไปอาจจะมีข้อเสียก็ได้
แต่เรายังไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าเคยมีคนเป็นอะไรจากการสัมผัสดอกมะลิ ที่จริงการสัมผัสเป็นเส้นทางสำคัญที่สารเคมีเข้าสู่ร่างกาย
แต่ว่าถ้าเราจับไม่เยอะมากก็คงดูดซึมเข้าไปไม่เยอะ
และที่ฝ่ามือจะดูดซึมได้ช้ากว่าส่วนอื่นๆ
เพราะผิวหนังบริเวณฝ่ามือมีความหนากว่าส่วนอื่น”
หนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ
แล้วการแขวนดอกมะลิไว้ในรถจะทำให้ร่างกายได้รับสารเคมีหรือไม่นพ.พิบูลย์ ตอบว่า
“ผมเชื่อว่าถ้ามะลินั้นมีสารเคมี
มันต้องระเหยออกมาและคนในรถคงสูดเข้าไปด้วย แต่ว่าคงมีปริมาณไม่เยอะพอ
ยกตัวอย่างคนที่พ่นยาเยอะๆ ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้รับสารเคมีในระดับสูง
แต่มันก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะถ้ามันมีสารเคมีมันก็สามารถระเหยออกมาได้
เพียงแต่ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่ามันระเหยออกมาแค่ไหน”
แต่สิ่งที่
นพ.พิบูลย์ เน้นว่าไม่ควรทำอย่างยิ่งคือการนำดอกมะลิไปลอยในน้ำดื่มหรืออาหาร
ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ร่างกายได้รับสารเคมีมากที่สุด
สรุปก็คือ
แม้ดอกมะลิจะต้องพึ่งพาสารเคมีปริมาณมากเพื่อป้องกันศัตรูพืช
ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเกษตรกรและสภาพแวดล้อม
แต่ในฐานะของผู้บริโภคการสัมผัสพวงมาลัยที่ทำจากดอกมะลิไม่มีผลต่อร่างกายมากนัก
ไม่สามารถสร้างความเจ็บป่วยแบบเฉียบพลันได้
อย่างไรก็ตาม
การล้างทำความสะอาดพวงมาลัยและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผิวหนังส่วนที่บอบบางหรือการดมก็จะยิ่งช่วยให้ร่างกายหลีกเลี่ยงสารเคมีจากดอกมะลิได้มากขึ้น