วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

ผู้ซื้อบ้านใหม่จุกจ่ายภาษีที่ดินฯ2เด้ง,ถอย! คลังลดภาษีที่ดินลง 50% - บ้านต่ำกว่า1 ล้าน ไม่ต้องเสียภาษี,5 มี.ค.นี้ปิดดีลภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง

ขอแสดงความยินดีต่อมหาเศรษฐีไทยทุกท่าน ที่ติดอันดับโลก จากการสำรวจของ “ฟอร์บส์” นิตยสารธุรกิจอเมริกันชื่อดัง ประจำปี 2558 มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกยังคงเป็น บิล เกตส์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินราว 2.53 ล้านล้านบาท ส่วนมหาเศรษฐีไทยติดสูงสุดที่ 81 มีความร่ำรวยราว 4.35 แสน ล้านบาท และอันดับที่ 1,190 ร่ำรวย 5.18 หมื่นล้านบาท
นับเป็นข่าวดีติดต่อกันมาหลายปี แสดงว่าไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศมหาเศรษฐีโลก แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนจนอีกล้นหลาม ข้อมูลทางการระบุว่า “คนจน” ของไทย คือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,492 บาทต่อเดือน ประมาณ 8.4 ล้านคน และยังมี “คนเกือบจน” ที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความจนเล็กน้อยอีก 7.2 ล้านคน รวมเป็น 15.6 ล้านคน
ไม่มีใครคาดหวังจะให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในด้านรายได้และอื่นๆ เพียงแต่อยากให้ความเหลื่อมล้ำลดแคบลง แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ ในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ารัฐบาล คสช.จะเอาจริงเอาจังที่สุด ในการพยายามลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การออกกฎหมายภาษีมรดก และกำลังลุ้นจะออก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ความพยายามที่จะปรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มต้นในรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ไปไม่ถึงฝั่ง ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แม้แต่ในรัฐบาลปัจจุบัน ก็มีรายงานข่าวว่า มีกระแสคัดค้านตามสื่อสังคม ต้องถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมีข้อมูลระบุว่า ส.ส. และ ส.ว. ชุดก่อนๆ มีที่ดินโดยเฉลี่ยคนละประมาณ 120 ไร่ อยู่ในกลุ่มผู้มั่งคั่งหยิบมือเดียว ที่อาจคัดค้านการปฏิรูป
การคัดค้านการออก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านโดย ส.ส. หรือ ส.ว.ในอดีต และอาจถูกคัดค้านโดยสมาชิก สนช.บางส่วน ในปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” มีการถือครองที่ดินและความมั่งคั่งแบบกระจุกตัว ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านรายได้ โอกาส ศักดิ์ศรี และอำนาจ ที่ยากต่อการแก้ไข
ตัวอย่างที่ชัดเจนของความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสและอำนาจ คือการที่สมาชิก สนช.บางส่วนถือโอกาสตั้งบุตร ธิดา หรือภรรยา ให้เป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้ช่วย เพื่อรับเงินเดือนจากภาษีประชาชน เดือนละ 2–3 หมื่นบาทต่อคน อ้างว่าไม่มีกฎหมายห้ามอย่างไม่เกรงใจสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ผลักดันการตั้งสมัชชาคุณธรรม เพื่อบังคับใช้กับใคร?
แต่อย่างน้อยก็ยังน่าดีใจที่รัฐบาล คสช. ยังยืนยันที่จะเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น 1 ในแม่น้ำทั้ง 5 ที่ประกาศว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ไม่ทราบว่าจะมีมาตรการลดความเหลื่อมล้ำหรือไม่? ให้เป็นบันไดขั้นหนึ่ง เพื่อก้าวสู่ความปรองดอง ความสมัครสมานสามัคคี และความสงบสุข.

รายได้เศรษฐี-นักการเมืองต่างคนจน “ฟ้ากับเหว”
สถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิด 8 ข้อเท็จจริงความเหลื่อมล้ำในไทย พบมีมากกว่าที่รายงานกันทั่วไปอย่างน้อย 25% ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จีดีพีประเทศเพิ่มขึ้น 4 เท่าแต่รายได้ครอบครัวไทยเพิ่มขึ้น 3 เท่าและคนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน เผยทรัพย์สินนายกรัฐมนตรีไทยสูงกว่าชนชั้นกลาง 9,000 เท่า ขณะที่ทรัพย์สินครอบครัว ส.ส.รวมกันมูลค่า 40,000 ล้านบาท เท่ากับทรัพย์สินเกือบ 2 ล้านครอบครัวไทยรวมกัน
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดเผยว่า ทางสถาบันฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของคนไทย จึงได้จัดทำซีรีส์งานศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และผลงานชิ้นล่าสุดคือ “8 ข้อเท็จจริง ความเหลื่อมล้ำในไทย” ซึ่งค้นพบ ข้อที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ 1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ดีขึ้นเลย จาก 25 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า แต่รายได้ส่วนที่ตกถึงครอบครัวไทยนั้นเพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่า และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของคนในแต่ละช่วงรายได้ก็เพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน
“ปี 2529 ครอบครัวที่จนสุด 10% มีรายได้เฉลี่ย 1,429 บาทต่อเดือน ครอบครัวรวยสุด 10% เคยรายได้เฉลี่ยที่ 28,808 บาทต่อเดือน ผ่านมา 25ปี รายได้ครอบครัวรวยที่สุดโตขึ้น 3 เท่า เพิ่มเป็น 90,048 บาทต่อเดือน ขณะที่รายได้ของครอบครัวจนที่สุดที่เพิ่มขึ้นไม่ถึง 3 เท่า มีรายได้เฉลี่ยราวเดือนละ 4,266 บาท ขึ้นตามกลุ่มรายได้สูงไม่ทัน”
2.กลุ่มใหญ่ที่สุดในครอบครัวคนจน คือ ครอบครัวที่มีคนชราเป็นหัวหน้าครอบครัวไม่ใช่เกษตรกรอย่างที่เข้าใจกันทั่ว ไป โดยครอบครัวคนชราที่มีอยู่ราว 40% มีรายได้หลักมาจากเงินที่ลูกหลานส่งมาให้ รองลงมาอีก 25% เป็นครอบครัวเกษตรกร อีกราว 6% เป็นครอบครัวอาชีพอิสระอย่างพ่อค้า แม่ค้า และในกลุ่มครอบครัวจนที่สุดมี 44% เป็นคนอีสาน อีก 30% อยู่ในภาคเหนือ คนกรุงเทพฯ น้อยมากเพียง 2% ส่วนกลุ่มครอบครัวรวยที่สุดเป็นครอบครัวประกอบอาชีพเฉพาะทางอย่าง หมอ หรือวิศวกร คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% อีก 12% เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเป็นเถ้าแก่ ที่สนใจคือราว 9% ของกลุ่มครอบครัวร่ำรวยเป็นเกษตรกรจากภาคใต้ แสดงว่าเกษตรกรไม่จำเป็นต้องจนเสมอไป
3.เกือบครึ่งของครอบครัวไทยมีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ขณะที่รายได้ครอบครัวเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 23,000 บาท/เดือน แต่รายได้ที่ครอบครัวกลุ่มใหญ่ที่สุดราว 1.1 ล้านครอบครัวได้รับนั้นอยู่ที่ราว 7,000-8,000 บาทต่อเดือน 4.ความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงนั้นยิ่งแย่กว่าที่รายงานทั่วไปอย่างน้อย 25% โดยข้อมูลที่ใช้กันทั่วไปมาจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อนำรายได้ครัวเรือนมารวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 6.4 ล้านล้านบาท แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการประมาณการรายได้ครัวเรือนทั้งประเทศเพื่อนำมาประมาณการจีดีพี พบรายได้ครัวเรือนไทยสูงถึง 7.3 ล้านล้านบาท แตกต่างกันเกือบ 1 ล้านล้านบาท และหายไปราว 14% ของรายได้ครัวเรือนจากการสำรวจ
นอกจากนั้น การสำรวจไม่ได้ให้ภาพที่ครบถ้วนของฐานะการเงินครอบครัวคนรวย เห็นได้จากข้อมูลนิตยสาร Forbe รวบรวมมูลค่าทรัพย์สินของ 50 มหาเศรษฐีไทย สูงถึง 52,000 ล้านบาท รวยกว่าครอบครัวรวยที่สุดที่สำรวจมาซึ่งมีสินทรัพย์ 200 ล้านบาท ถึง 250 เท่า ขณะที่วารสารการเงินธนาคาร ระบุผู้ได้รับเงินปันผลหุ้นมากที่สุด 50 อันดับแรกเฉลี่ย 190 ล้านบาทต่อปี ทำให้ความแตกต่างระหว่างกลุ่มจนที่สุด 20% และรวยที่สุด 20% เพิ่มขึ้นจาก 11 เท่าเป็น 14 เท่าหรือกว่า 25% และด้วยตัวเลขใหม่นี้จะทำให้อันดับความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยเมื่อเทียบกับ 157 ประเทศทั่วโลกยิ่งแย่ลงไปอีก คือ จากเดิมอยู่ที่อันดับ 121 จะตกไปอยู่ที่ลำดับ 135 ใกล้เคียงสวาซิแลนด์ และเอลซัลวาดอร์ 5.ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งไทยอยู่อันดับท้ายๆ ของโลก คือ อันดับ 162 จาก 174 ประเทศ
6.ทรัพย์สินเฉลี่ยของครอบครัวสมาชิกสภาราษฎร (ส.ส.) รวยกว่าอีก 99.999% ของครอบครัวไทย โดยทรัพย์สินรวมของ ส.ส. 500 ครอบครัวมารวมกันเท่ากับ 40,000 ล้านบาท มากพอๆกับทรัพย์สินของ 2 ล้านครอบครัวรวมกัน ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีไทยสูงกว่าคนที่มีทรัพย์สินสุทธิอยู่ กึ่งกลางถึง 9,000 เท่า ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอินเดียที่ต่างกัน 2,000 เท่า ฟิลิปปินส์ 600 เท่า อังกฤษ 50 เท่า ซึ่งการที่ผู้กำหนดนโยบายมีฐานะไม่ใกล้เคียงประชาชนส่วนใหญ่ที่พวกเขาเป็น ตัวแทน นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ถูกแก้ไข
7.นอกจากรายได้และสินทรัพย์ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข ของคนร่ำรวยที่มีโอกาสมากกว่าคนยากจน ดูได้จากคะแนน PISA ซึ่งประเมินผลสอบนานาชาติ ที่วัดกับเด็ก 15 ปีทั่วประเทศ พบว่าเด็กจากครอบครัวรวยที่สุด 20% มีโอกาสผ่านเกณฑ์คะแนนเฉลี่ยวิชาเลขมากกว่าเด็กจากครอบครัวจนที่สุด 10% กว่า 2 เท่า 8.ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่ควรแก้ คือความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส เราคงไม่สามารถทำให้ทุกคนรายได้เท่ากัน แต่สิ่งที่ต้องทำและทำได้คือ จะต้องทำให้คนมีโอกาสเท่าเทียมกันมากขึ้นในการยกระดับรายได้ตัวเอง.