วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

ผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา,เปิดอบรมฟรี!! เปลี่ยนผักตบชวาเป็นแก๊สชีวภาพ

ผลิตก๊าซชีวภาพจาก 'ผักตบชวา'

ทำมาหากิน : ผลิตก๊าซชีวภาพจาก 'ผักตบชวา' นำวัชพืชไร้ค่ามาต่อยอดใช้จริง : โดย...ฉัตรสุดา สุวรรณจตุพร

             จากอดีตจนปัจจุบันผักตบชวายังคงเป็นปัญหาสำคัญต่อการไหลของน้ำในแม่น้ำลำคลอง แม้จะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือจัดการ แต่ก็ยังไม่สามารถลดปัญหาผักตบชวาได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยรศ.ดร.จุรีรัตน์ ลีสมิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง(ภาฯ)และหัวหน้าโครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ได้คิดค้นงานวิจัยการผลิตก๊าสชีวภาพจากผักตบชวา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมประจำปี 2557  
          "ที่ผ่านมามีการจัดอบรมสอนการทำถังหมัก วิธีการหมักโดยใช้ผักตบชวาผสมกับมูลสัตว์สดและน้ำ อบรมไปแล้วทั้งหมด 3 รุ่น จำนวน 65 คน ผู้เข้ารวมอบรมมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ กรมราชทัณฑ์ อบจ. อบต. และชุมชนต่างๆ ทำให้นำความรู้จากการอบรมไปใช้ต่อยอดได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด" รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ เพื่อนพึ่ง(ภาฯ) เผยผลการดำเนิน ซึ่งขณะนี้ทางโครงการมีแนวทางที่จะนำความรู้ไปเผยแพร่โดยการจัดตั้งเป็นหน่วยเรียนรู้ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้ 3 แห่งด้วยกัน คือ ศูนย์สาธิตเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนลาดหลุมแก้ว มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี แขวงคลองสามวา มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านสะพานดำ จ.ราชบุรี โดยสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น  

      "วิธีการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง มี 2 ขั้นตอนง่ายๆ คือเริ่มจากนำภาชนะปิดสนิทขนาด 5-20 ลิตรสำหรับเก็บก๊าซและมีก๊อกเปิด-ปิดแบ่งพื้นที่ 4 ส่วนใส่ผักตบชวาที่หั่นหรือบดแล้ว 1 ส่วน มูลสัตว์สด 1 ส่วน น้ำสะอาด 1 ส่วนทั้งไว้ 10-15 วันจากนั้นทดสอบว่ามีก๊าซติดไฟหรือไม่โดยใช้ลูกโป่ง จากนั้นนำมูลสัตว์สดที่ทำให้ก๊าซติดไฟจากขั้นตอนแรกมาหมักในถัง 200 ลิตรโดยใช้อัตราส่วนเช่นเดิม ทิ้งไว้ 10-15 วันจากนั้นทดสอบว่ามีก๊าซติดไฟหรือไม่ โดยต่อเข้ากับวาล์วและหัวแก๊ส" รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ เผยขั้นตอนการผลิต
        อรษา งามนิยม รองประธานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี แขวงคลองสามวา มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย หนึ่งในผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมผลิตก๊าสชีวภาพจากผักตบชวา กล่าวถึงผลจากการนำไปปฏิบัติจริงในกลุ่มว่า ปกติทางกลุ่มมีการใช้ผักตบชวามาทำปุ๋ยอยู่แล้วเมื่อได้เห็นโครงการจึงสนใจสมัครเข้ามาอบรมเพื่อจะช่วยลดการใช้แก๊ส ช่วยเพิ่มคุณค่าให้แก่สิ่งเหลือใช้ นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถต่อยอดได้  
     ด้าน ดร.อนามัย ดำเนตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์และรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเกี่ยวกับโครงการนี้ว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเภททุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย ให้การสนับสนุนเพื่อจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง ให้ผู้ที่สนใจเพื่อมาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่มีรายได้ไม่เพียงพอ และยังขาดแคลนองค์ความรู้ได้นำกลับไปประยุกต์ใช้ 
      "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นเรามีองค์ความรู้งานวิจัยในทุกศาสตร์ทั้งทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร ด้านเกษตรหรือวิศวกรรม และพร้อมจะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเราไปสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศต่อไป” 
       นับเป็นอีกก้าวในการนำวัชพืชไร้ค่าอย่างผักตบชวามาใช้ประโยชน์ด้วยการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในครัวเรือน สนใจสอบถามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์