ในระยะหลังๆ มะม่วงส่งออกเติบโตดี ... ทำให้ชาวอีสานเริ่มหนีจากยางมามะม่วงแล้ว พี่น้องเอ๋ย .....
ผลผลิตมะม่วงหนองวัวซอ อุดรธานี ไม่พอส่งออก เหตุอากาศแปรปรวน ผลผลิตออกน้อย ตลาดจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีสั่งซื้อไม่อั้น โกยรายได้ส่งออกปีละ100 ล้าน พันธุ์น้ำดอกไม้สีทองขายดี เกษตรกรทุ่มทุนเจาะบ่อบาดาล-ขุดสระรับมือแล้ง ชาวสวนยางถอดใจหันมาปลูกมะม่วง
นายธวัชชัย แปรงศรี นายอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ปัจจุบันอำเภอหนองวัวซอมีพื้นที่ปลูกมะม่วงเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดอุดรธานี โดยมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 5,693 ไร่ เกษตรกรจำนวน 431 ครัวเรือน ซึ่งเป็นผลผลิตทั้งนอกฤดูและในฤดู ประมาณ 3,539 ตัน/ปีมูลค่าประมาณ 127 ล้านบาท
สำหรับในฤดูผลผลิตปี 2557/58 อำเภอหนองวัวซอได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงจัดทำโครงการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) 202 ราย ผลิตมะม่วงที่มีคุณภาพได้ 75,000 ตัน และส่งออกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง, น้ำดอกไม้เบอร์ 4 และเขียวเสวยได้ 700 ตัน มูลค่า 36.25 ล้านบาท
นอกจากนี้อำเภอและหน่วยงานต่าง ๆ ยังได้สนับสนุนให้เกษตรกรมีโอกาสไปจัดแสดงสินค้าและจำหน่ายผลผลิตของตนเองในตลาดต่างประเทศ เช่น เวียดนาม เกาหลี จีน สปป.ลาว ญี่ปุ่น รวมถึงจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง ทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงมีรายได้สูงขึ้นเฉลี่ย 230,000 บาทเศษ/ครอบครัว/ปี
นายเทพพร หิรัฐรัตน์ ประธานภาคอีสาน สมาคมชาวสวนมะม่วงไทยและประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงบ้านห้วยไร่บูรพา ต.อูบมุง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ปีนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและเจอเพลี้ยไฟ ซึ่งไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนในรอบ 20 ปี ทำให้ผลผลิตมะม่วงนอกฤดูตั้งแต่เดือนกรกฎาคมหายไปจากตลาดถึง 60% ทำให้ราคาผลผลิตในตลาดเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 80 บาทเป็น 120 บาท
ขณะที่เอเย่นต์ส่งออกก็รับซื้อผลผลิตไม่อั้น แต่ผลผลิตไม่เพียงพอ โดยเฉพาะตลาดจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ สปป.ลาวนิยมบริโภคมะม่วงพันธุ์สีทองและมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 โดยพันธุ์สีทอง เกรด B ราคากิโลกรัมละ 40 บาท หรือพันธุ์แก้วซ่อนราคากิโลกรัมละ 50 บาท"
"ปีนี้ทางกลุ่มปลูกมะม่วงเพิ่มขึ้น 300 ไร่ส่วนใหญ่เกษตรกรจะเปลี่ยนจากที่นาดอนมาเป็นสวนมะม่วง และเปลี่ยนจากสวนยางพารามาปลูกมะม่วงพันธุ์สีทองประมาณ 100 ไร่"
ด้านนายบุญช่วย พัฒนชัย ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกไม้ผลมะม่วง ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า อากาศที่เปลี่ยนแปลงจากหนาวมาเป็นร้อนกะทันหันสร้างความเสียหายให้มะม่วงนอกฤดูรุ่นสุดท้ายถึง 80% แต่มะม่วงที่กำลังห่อขณะนี้ไม่ได้รับผลกระทบโดยปีนี้พื้นที่ปลูกมะม่วงของกลุ่มเพิ่มขึ้นจาก 3,500 ไร่ เป็น 4,000 ไร่ ซึ่งในตำบลกุดหมากไฟที่ทำสวนยางพาราได้หันมาปลูกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองราว10%
ส่วนตลาดส่งออกปีนี้ราคาสูงขึ้นกว่าทุกปี 20% จากกิโลกรัมละ 85 บาท เป็น 110 บาท ตลาดที่มาแรงคือเกาหลี เนื่องจากเกาหลีรู้จักมะม่วงพันธุ์สีทองของไทยมากขึ้นและติดใจในผิวและรสชาติ จึงมีสัดส่วนออร์เดอร์เข้ามามากถึง 50% และอีก 50% จะเป็นตลาดจีน รัสเซีย เยอรมนี และเวียดนาม ปีนี้ยังเป็นปีทองของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง
ส่วนแนวทางรับมือภัยแล้งนั้น เกษตรกรได้ลงทุนเจาะน้ำบาดาลและขุดสระเพิ่ม อย่างไรก็ตาม คาดว่าอนาคตสวนยางพาราในพื้นที่จะลดลงเรื่อย ๆ แม้จะเปิดกรีดแล้วก็ตาม เพราะมีต้นทุนสูงยาวนาน ขณะเดียวกันต้องลงทุนทุกปี แต่มะม่วงปลูกได้ผลผลิตทุกปี ปัจจุบันจึงมีเกษตรกรสวนยางพาราเริ่มปลูกมะม่วงแซมกับต้นยางพาราและอาจโค่นต้นยาง โดยปีนี้จะมีแนวโน้มที่ชาวสวนยางจะเปลี่ยนมาปลูกมะม่วงเพิ่มอีกประมาณ 10%
ที่มาข่าว:http://money.sanook.com/265333/